วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ร้อยคำสำนวนไทย


         สำนวนไทย ถือเป็น ถ้อยคำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการดึงสิ่งที่อยู่รอบตัวมาเปรียบเทียบ ดังนั้น อาจพูดได้ว่า สำนวนไทยมีความผูกพันกับชีวิตของเราอย่างใกล้ชิด ยังสอดแทรกคติเตือนใจไว้หลายแง่มุม

           ความหมาย  
             สำนวนหมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงเป็นข้อความ  หรือคำพูดที่เป็นชั้นเชิง  ไม่ตรงตามรูปแบบภาษา  เป็นถ้อยคำหรือ คำพูดที่มีลักษณะเฉพาะตัว  มีความหมายเป็นนัยแฝงอยู่ กินความกว้าง หรือลึกซึ้ง  นำมาใช้ให้มีความหมายแตกต่างไปจากความหมายเดิมของคำ ๆ นั้น  หรืออาจจะมีความหมายคล้าย กับความหมายเดิมของคำที่นำมาประสมกัน แต่ก็ไม่เหมือนกับความหมายเดิมทีเดียว  เป็นความหมายใน เชิงอุปมาเปรียบเทียบ  มักใช้ถ้อยคำที่ไม่ยาวมากแต่กินความมาก   ใช้คำที่ไพเราะ คมคาย สละสลวย  ต้องอาศัยการตีความจึงจะเข้าใจ
            





ที่มาของสำนวนไทย



          ที่มาของสำนวนไทย

สำนวนไทยนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่สันนิษฐานว่าสำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยโดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้วก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่นไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข    
          หนังสือสุภาษิตพระร่วงก็มีเนื้อหาเป็นสำนวนไทยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันมากมายเช่นเมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่ หนังสือกฎมณเฑียรบาลของเก่าก็มีสำนวนไทยปรากฏอยู่ นอกจากนี้ในวรรณคดีไทยต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาก็มีสำนวนไทยปรากฏอยู่มากมาย เช่น ขุนช้างขุนแผน ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ และราชาธิราชเป็นต้น

 


ลักษณะของสำนวนไทย


             ลักษณะของสำนวนไทย
     
1. ถ้อยคำที่ใช้เป็นสำนวนอาจเป็นเพียงคำเดียว หรือประกอบด้วยถ้อยคำที่เรียงกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปซึ่งบาง สำนวนเป็นกลุ่มคำบางสำนวนเป็นประโยค ซึ่งมีทั้งความเดียวและประโยคความซ้อน
2. สำนวนไทยบางสำนวนมีทั้งมีเสียงสัมผัสและไม่มีเสียงสัมผัส ที่มีเสียงสัมผัส มีเสียงสัมผัสในและสัมผัสนอก จะมีตั้งแต่ 4 ถึง 12 คำ ส่วนที่ไม่มีเสียงสัมผัส จะมีตั้งแต่ ถึง คำ บางสำนวนมีการใช้คำซ้ำและเล่นคำ
3. เนื้อความของสำนวนมีทั้งที่มีเนื้อความตอนเดียว และมีเนื้อความสองตอนขึ้นไป
4. เนื้อหาของสำนวนจะมีหลากหลาย ดังนี้

           4.1 เนื้อหาเกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ และกิริยาท่าทาง
           4.2 เนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะนิสัย กิริยาอาการและพฤติกรรม
           4.3 เนื้อหาเกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก
           4.4 เนื้อหาเกี่ยวกับการพูด
           4.5 เนื้อหาเกี่ยวกับความรัก การมีคู่ และการครองเรือน
           4.6 เนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้ และการอบรมสั่งสอน
           4.7 เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ อาชีพ การทำงาน การทำมาหากิน และการดำรงชีวิต
           4.8 เนื้อหาเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในสังคม การเมือง การปกครอง
           4.9 เนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรม การเตือนสติและคำสอนต่างๆ
           4.10 เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานการณ์ เวลา ระยะทางและสถานที่

5. เป็นถ้อยคำสละสลวยที่ใช้แทนคำพูดธรรมดา เป็นคำแปลก ๆ โดยอาจเทียบเคียงมาจากการกระทำบางอย่าง เป็นคำกล่าวที่มีความหมายโดยนัย เป็นคำที่มาจากปรากฏการธรรมชาติ นิทาน ชาดก หรือวรรณคดี ใช้ถ้อยคำน้อย แต่มีเนื้อความมาก และเป็นคำที่มีความไพเราะฯลฯ




การใช้สำนวนไทย


             การใช้สำนวนที่ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนถูกต้องและรวดเร็ว โดยทั่วไปเราใช้สำนวนเพื่อการสื่อสารในกรณีต่อไปนี้ใช้ในการจูงใจ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ธรรมะย่อมชนะอธรรม คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร เป็นต้น

2. ใช้ย่อข้อความยาวๆ เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง ตัดหางปล่อยวัด จับปลาสองมือ กินเปล่า ชุบมือเปิบ ตำน้ำพริก-ละลายแม่น้ำ เป็นต้น

3. ใช้ขยายความหรือเน้นความเข้าใจ เช่น ปิดทองหลังพระ หนีเสือปะจระเข้ ทำคุณบูชาโทษ กินน้ำใต้ศอก เรือล่มในหนองทองจะไปไหน หนูตกถังข้าวสาร เป็นต้น

4. ใช้แทนถ้อยคำที่ไม่ต้องการกล่าวตรงๆ เช่น เฒ่าหัวงู สิ้นบุญ เจ้าโลก บ้านเล็ก ไก่แก่แม่ปลาช่อน โคแก่กินหญ้าอ่อน วัวเคยขาม้าเคยขี่ เป็นต้น

5. ใช้เพิ่มสีสันและความสละสลวยของถ้อยคำในการสื่อสาร เช่น ข้าวแดงแกงร้อน อยู่เย็นเป็นสุข รั้วรอบขอบชิด คลุกคลีตีโมง ขุดบ่อล่อปลา เป็นต้น


สำนวนไทย



                            สำนวนไทย แบ่งตามหมวด ก-ฮ ดังนี้
หมวด ก.
กงเกวียนกำเกวียน - เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม
กบในกะลาครอบ - ผู้มีประสบการณ์และความรู้น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน – ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กระเชอก้นรั่ว – สุรุ่ยสุร่าย, ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ, ไม่ประหยัด
กระดังงาลนไฟ – ผู้หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติ และเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน

กระดี่ได้น้ำ – อาการแสดงความดีอกดีใจ ตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระต่ายขาเดียว – ยืนกรานไม่ยอมรับ
กระต่ายตื่นตูม –  คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
กระต่ายหมายจันทร์ – ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
กระโถนท้องพระโรง – ผู้ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใคร ๆ ก็พากันรุมใช้อยู่คนเดียว
กวนน้ำให้ขุ่น – ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ – ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเล ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป

กาคาบพริก – ลักษณะที่คนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
กำแพงมีหูประตูมีช่อง, กำแพงมีหูประตูมีตา – การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไร ก็อาจมีคนล่วงรู้ได้
กินที่ลับไขที่แจ้ง – เปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ
กินน้ำใต้ศอก – จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
กินบนเรือนขี้บนหลังคา – เนรคุณ
กินปูนร้อนท้อง – ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง – เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา
เกลือจิ้มเกลือ – ไม่ยอมเสียเปรียบกัน, แก้เผ็ดให้สาสมกัน
เกลือเป็นหนอน – ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านที่คิดทรยศ,หนอนบ่อนไส้
เกี่ยวแฝกมุงป่า – ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัว
แกว่งเท้าหาเสี้ยน – รนหาเรื่องเดือดร้อน
ใกล้เกลือกินด่าง – มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
ไก่แก่แม่ปลาช่อน – หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
ไกลปืนเที่ยง – ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ – ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน


หมวด ข.
ขนทรายเข้าวัด – หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
ขนมผสมน้ำยา – พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง – ไม่กระทบกระเทือนถึงเดือดร้อน
ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า – บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
ขว้างงูไม่พ้นคอ – ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง
ขวานผ่าซาก – โผงผางไม่เกรงใจใคร
ขายผ้าเอาหน้ารอด – ยอมสละสิ่งสำคัญเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้
ขิงก็รา ข่าก็แรง – ต่างไม่ยอมลดละกัน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน – ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
เข็นครกขึ้นภูเขา – ทำงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก
เข้าตามตรอกออกตามประตู – ทำตามธรรมเนียมประเพณี
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม – ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาละเทศะ
เขียนด้วยมือลบด้วยตีน – ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง
เขียนเสือให้วัวกลัว – ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
ไข่ในหิน – ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง


หมวด ค. , ฆ.
คดในข้อ งอในกระดูกมีสันดานคดโกง
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คมในฝัก – มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้เห็น
คว้าน้ำเหลว – ไม่ได้ผลตามต้องการ
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด – มีความรู้มาก แต่ไม่รู้จักเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์

คางคกขึ้นวอ – คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดี ลืมตัว
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน – ชายสูงอายุที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว
ฆ่าความอย่าเสียดายพริก – ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่


หมวด ง. , จ.
งมเข็มในมหาสมุทร – ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก
งอมืองอตีน – เกียจคร้าน, ไม่สนใจขวนขวายการทำงาน
เงยหน้าอ้าปาก – มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน
จับแพะชนแกะ – ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทน เพื่อให้ลุล่วงไป
จับเสือมือเปล่า – แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
จุดไต้ตำตอ – พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเจ้าตัวเข้า โดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว


หมวด ช. , ซ.
ชนักติดหลังความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน – ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
ชักใบให้เรือเสีย – พูดหรือทำขวาง ๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
ชักแม่น้ำทั้งห้า – พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
ชักหน้าไม่ถึงหลัง – มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม, ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม – ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล
ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไม่มิด – ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
ชิงสุกก่อนห่าม – ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัน หรือยังไม่ถึงเวลา (มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน)
ชุบมือเปิบ – ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ, ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว – ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง, ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลาย่อมได้รับความเดือดร้อน


หมวด ฒ. , ด.
เฒ่าหัวงู – คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบาย หลอกเด็กผู้หญิงในทางกามารมณ์
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ – ให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคลหรือผู้หญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
เด็ดดอกไม้ร่วมต้น – เคยทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติก่อน จึงมาอยู่ร่วมกันในชาตินี้
เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด – ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
ได้ทีขี่แพะไล่ – ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ


หมวด ต.
ตกกระไดพลอยโจน – จำเป็นที่จะต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางเลี่ยง
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ – ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง – ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา – ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว
ตัดช่องน้อยแต่พอตัว – เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว
ตัดไฟต้นลม, ตัดไฟหัวลม – ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป
ตัดหางปล่อยวัด – ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ – ลงทุนไปโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน
ตีตนก่อนไข้, ตีตนตายก่อนไข้ – กังวลทุกข์ร้อนหรือหวาดกลัวในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ตีนถีบปากกัด – มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้องโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
ตีวัวกระทบคราด – โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่ง
เตี้ยอุ้มค่อม – คนที่มีฐานะต่ำต้อยหรือยากจน แต่รับภาระเลี้ยงดูคนที่มีฐานะเช่นตนอีก
แตงร่มใบ – มีผิวเป็นนวลใยในวัยสาว


หมวด ถ. , ท.
ถ่มน้ำลายรดฟ้า – ประทุษร้ายต่อสิ่งที่สูงกว่าตน ตัวเองย่อมได้รับผลร้าย
ถอนรากถอนโคน – ทำลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น – ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วน แต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง
เถรส่องบาตร – คนที่ทำอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องราว
ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ – สิ่งที่มีอยู่หรือเกิดตามธรรมชาติ อันอาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
ทองไม่รู้ร้อน – เฉยเมย,ไม่กระตือรือร้น, ไม่สะดุ้งสะเทือน
ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป – ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย
ทำนาบนหลังคน – หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
ทำบุญเอาหน้า – ทำบุญเพื่ออวดผู้อื่น ไม่ใช่ทำด้วยใจบริสุทธิ์
เทือกเถาเหล่ากอ  - เชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมา


หมวด น.
นกสองหัว – คนที่ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกัยโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
นายว่าขี้ข้าพลอย – พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย
น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง – พูดมากแต่ได้เนื้อหาสาระน้อย
น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา – ทีใครทีมัน
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย – คำพูดที่ตรงไปตรงมา อาจไม่ถูกใจผู้ฟัง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัย คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งถูกใจผู้ฟัง แต่อาจเป็นโทษเป็นภัยได้


หมวด บ.
บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น – รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน
บ่างช่างยุ – คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
บ้าหอบฟาง – บ้าสมบัติ เห็นอะไรๆ เป็นของมีค่าจะเอาทั้งนั้น, อาการที่หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง
บุญทำกรรมแต่ง – บุญหรือบาปที่ทำไว้ในชาติก่อน เป็นเหตุทำให้รูปร่างหน้าตาหรือชีวิตของคนเราในชาตินี้ สวยงาม ดี ชั่ว เป็นต้น
เบี้ยน้อยหอยน้อย – มีเงินน้อย, มีไม่มาก
เบี้ยบ้ายรายทาง – เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ


หมวด ป.
ปล่อยลูกนกลูกกา – ปล่อยให้เป็นอิสระ, ไม่เอาผิด
ปล่อยเสือเข้าป่า – ปล่อยศัตรูไปอาจกลับมาทำร้ายภายหลังอีก
ปลาหมอตายเพราะปาก – คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก – คนที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ที่กดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือผู้น้อย
ปลูกเรือนคร่อมตอ – กระทำสิ่งซึ่งล่วงล้ำ ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน – ทำตามความพอใจของผู้ที่จะได้รับผลโดยตรง
ปอกกล้วยเข้าปาก – ง่าย
ปากปราศรัยใจเชือดคอ – พูดดีแต่ใจคิดร้าย
ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม – ยังเป็นเด็ก
ปากว่าตาขยิบ – พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
ปากหวานก้นเปรี้ยว – พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ
ปิดทองหลังพระ – ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
ปิดประตูตีแมว – รังแกคนไม่มีทางสู้ และไม่มีทางหนีรอดไปได้
ปีกกล้าขาแข็ง – พึ่งตัวเองได้ (เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักใช้กล่าวเชิงตำหนิติเตียนผู้น้อย)
เป็ดขันประชันไก่ – ผู้ที่มีความรู้ความสามารถน้อย แต่อวดแสดงแข่งกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง
ไปไหนมาสามวาสองศอก – ถามอย่างหนึ่งตอบไปอีกอย่างหนึ่ง


หมวด ผ. ฝ.
ผักชีโรยหน้า – การทำความดีเพียงผิวเผิน
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง – คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
ผีซ้ำด้ำพลอย – ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลง หรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย
ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน – พลอยเหลวไหลไปด้วยกัน
ฝนทั่งให้เป็นเข็ม – เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล
ฝากปลาไว้กับแมว – ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจ
ฝากผีฝากไข้ – ขอยึดเป็นที่พึ่งจนวันตาย
ฝ่าคมหอกคมดาบ – เสี่ยงภัยในสงคราม, เสี่ยงอันตรายจากอาวุธนานาชนิด


หมวด พ. ฟ.
พบไม้งามเมื่อยามขวานบิ่น – พบหญิงสาวที่ต้องใจเมื่อแก่
พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก – ความทุกข์ยากเกิดซ้อน ๆ เข้ามาในขณะเดียวกัน
พระอิฐพระปูน – นิ่งเฉย, ไม่รู้สึกยินดียินร้าย
พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ – เปลี่ยนแปงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ – รู้ทันกัน
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง – พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
เพชรตัดเพชร – คนเก่งต่อคนเก่งมาต่อสู้กัน
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร – การยอมแพ้ทำให้เรื่องสงบ
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด – ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อ
ไฟสุมขอน – อารมณ์ร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ในใจ


หมวด ม.
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก – พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน
มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี – เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี
มัดมือชก – บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอำนาจและจัดการเอาตามใจชอบ
มากหมอมากความ – มากคนก็มากเรื่อง
ม้าดีดกะโหลก – มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย
มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว – มีสมบัติเพียงเล็กน้อย แต่กังวลจนนอนไม่หลับ
มือถือสาก ปากถือศีล – มักแสดงตัวว่าเป็นคนมีศีลธรรม แต่กลับประพฤติชั่ว
มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ – ไม่ช่วยแล้วยังขัดขวางการทำงานของผู้อื่น
ไม่ดูตาม้าตาเรือ – ไม่พิจารณาให้รอบคอบ
ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ – ไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล
ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ – ด่วนทำไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร
ไม้ใกล้ฝั่ง – แก่ใกล้ตาย
ไม้หลักปักขี้ควาย, ไม้หลักปักเลน – โลเล, ไม่แน่นอน
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก – อบรมสั่งสอนเด็กให้ประพฤติดีได้ง่ายกว่าอบรมสั่งสอนผู้ใหญ่


หมวด ย.
ยกตนข่มท่าน – พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า
ยกภูเขาออกจากอก – โล่งใจ, หมดวิตกกังวล
ยกเมฆ – เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น
ยกหางตัวเอง – ยกยอตนเอง
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว – ทำอย่างเดียวได้ผล 2 อย่าง
ยิ้มด้วยปาก ถากด้วยตา – เยาะเย้ยด้วยกิริยาท่าทาง
ยืนกระต่ายขาเดียว – พูดยืนยันอยู่คำเดียว ไม่เปลี่ยนความคิดเดิม
ยุให้รำตำให้รั่ว – ยุให้ผิดใจกัน, ยุให้แตกกัน


หมวด ร.
รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา – ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลำบาก
รักพี่เสียดายน้อง - ลังเลใจ, ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ – รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่กันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้
ราชรถมาเกย – โชค ลาภ หรือยศตำแหน่งมาถึงโดยไม่รู้ตัว
ราชสีห์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ – คนที่มีอำนาจหรืออิทธิพลพอ ๆ กันอยู่รวมกันไม่ได้
รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง – ทำไม่ดีหรือทำผิดแล้วไม่รับผิด กลับโทษผู้อื่น
รีดเลือดกับปู – เคี่ยวเข็ญหรือบีบบังคับเอากับผู้ที่ไม่มีจะให้
รู้งูๆ ปลาๆ – รู้เล็กๆ น้อยๆ, รู้ไม่จริง
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม – เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง – รู้จักเอาตัวรอดหรือปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์
เรียนผูกต้องเรียนแก้ – รู้วิธีทำก็ต้องรู้วิธีแก้ไข
เรือร่มในหนอง ทองจะไปไหน – คนในเครือญาติแต่งงานกันทำให้ทรัพย์มรดกไม่ตกไปอยู่กับผู้อื่น
เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ – มีอุปสรรคเมื่อใกล้จะสำเร็จ


หมวด ล.  
ล้มหมอนนอนเสื่อ – ป่วยจนต้องนอนพักรักษาตัว
ลางเนื้อชอบลางยา – ของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งกลับไม่ชอบ
ลิ้นกับฟัน – การระทบกระทั่งกันบ้างแต่ไม่รุนแรงของคนที่ใกล้ชิดกัน
ลิ้นตวัดถึงใบหู – พูดจาตลบตะแลงเชื่อไม่ได้
ลูกไก่อยู่ในกำมือ – ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่มีทางหนีหรือทางต่อสู้
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น – ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
เล่นกับหมา หมาเลียปาก – ลดตัวลงไปหรือวางตัวไม่เหมาะสมจึงถูกลามปาม
เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ – เลี้ยงลูกศัตรูหรือลูกคนพาลจะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
เลือกที่รักมักที่ชัง – ลำเอียง
เลือกนักมักได้แร่ – เลือกนักมักจะได้ที่ไม่ดี (มักใช้พูดตำหนิผู้เลือกคู่ครอง)
เลือดข้นกว่าน้ำ – ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น


หมวด ว. ศ.
วัดรอยเท้า – คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น
วันพระไม่มีหนเดียว – วันหน้ายังมีโอกาสอีก (มักใช้พูดเป็นเชิงอาฆาต)
วัวลืมตีน – คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน
วัวสันหลังหวะ – คนที่มีความผิดติดตัวทำให้มีความหวาดระแวง
วัวหายล้อมคอก – เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข
ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง – ตำหนิผู้อื่นเรื่องใดแล้วตนก็กลับทำในเรื่องนั้นเสียเอง
ศิษย์คิดล้างครู – ศิษย์เนรคุณที่มุ่งคิดจะทำลายล้างครูบาอาจารย์
ศิษย์นอกครู – ศิษย์ที่ประพฤติไม่ตรงตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์


หมวด ส.
สร้างวิมานในอากาศ – ใฝ่ฝันถึงความมั่งมี, คิดคาดหรือหวังจะมี หรือเป็นอะไรอย่างเลิศลอย
สวยแต่รูป จูบไม่หอม – มีคูปร่างหน้าตาสวย แต่มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่ดี
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ–ความสุขที่เกิดจากการทำความดี หรือความทุกข์ที่เกิดจากการทำความชั่วย่อมอยู่ในใจของผู้ทำเอง
สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ – สอนสิ่งที่เขารู้ดีหรือที่เขาถนัดอยู่แล้ว
สันหลังยาว – คำเรียกคนเกียจคร้านเอาแต่นอน
สาวไส้ให้กากิน – เอาความลับของฝ่ายตนไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน
สิ้นไร้ไม้ตอก – ยากไร้, ขัดสนถึงที่สุด, ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว
สิบเบี้ยใกล้มือ – ของหรือประโยชน์ที่ควรได้ก็เอาไว้ก่อน
สีซอให้ควายฟัง – แนะนำคนโง่ไม่มีประโยชน์
สุกเอาเผากิน – ทำลวกๆ , ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่งๆ
สุนัขจนตรอก – คนที่ฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิต
เส้นผมบังภูเขา – เรื่องง่ายๆ แต่คิดไม่ออก
เสือซ่อนเล็บ – ผู่ที่มีความเก่งกล้าสามารถแต่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ปรากฏ
เสือนอนกิน –คนที่ได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไร โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ – ทำให้หมดราคี, ทำให้หมดมลทิน


หมวด ห.
หนักไม่เอา เบาไม่สู้ – ไม่มีความอดทนที่จะทำการงาน
หนามยอกเอาหนามบ่ง – ตอบโต้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน
หน้าไหว้หลังหลอก – ต่อหน้าทำเป็นดี แต่ลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย
หนีเสือปะจระเข้ – หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง
หมาหวงราง – คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่น
หมาสองราง – คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่มักไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
หมาหวงห้าง – คนที่หวงชองที่ตนไม่มีสิทธิ์
หมาเห่าใบตองแห้ง – คนที่เก่งแต่พูด
หมายน้ำบ่อหน้า – มุ่งหวังจะได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง
หอกข้างแคร่ – คนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
หัวมังกุท้ายมังกร – ไม่เข้ากัน, ไม่กลมกลืนกัน
หัวล้านได้หวี – ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว – ทำประชด ซึ่งรังแต่จะเสียประโยชน์
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว – เห็นผิดเป็นชอบ, เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เห็นขี้ดีกว่าไส้ – เห็นคนอื่นดีกว่าญาติพี่น้อง
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง – ทำเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้งๆ ที่ตนไม่มีกำลังทรัพย์หรือความสามารถพอ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ – หยิบหย่ง, ทำอะไรไม่จริงจัง, ไม่เอาการเอางาน
เหยียบเรือสองแคม – ทำทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย


หมวด อ.
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน – อดใจไว้ก่อน เพราะหวังสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า
อ้อยเข้าปากช้าง – สิ่งหรือประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือแล้วไม่ยอมคืน
อาบน้ำร้อนมาก่อน – เกิดก่อนจึงมีประสบการณ์มากกว่า
เอาทองไปรู่กระเบื้อง, เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ – โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาล หรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควร
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน – แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า
เอามือซุกหีบ – หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่ที่
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง – คัดค้านผู้ใหญ่ ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า หรือผู้ที่มีฐานะสูงกว่า ย่อมไม่สำเร็จ และอาจได้รับผลร้ายแก่ตัวเองอีกด้วย
เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ –  แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น


                  เพื่อให้ง่ายต่อการจำและนำไปใช้ ยังมีเพลงสำนวนไทยให้เพื่อนๆ รับฟังด้วยค่ะ




ประวัติส่วนตัว




                 ประวัติส่วนตัว

ชื่อ น..อภิญญากร   มาตเทพ   อายุ 22 ปี ชื่อเล่น ก้อย

วันเดือนปีเกิด 28 กรกฎาคม พ.. 2537

การศึกษา   กำลังศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม